เริ่มที่เทรนด์แรก Low Code เทคโนโลยีนี้มีการใช้งานมายาวนาน ในช่วงโควิดที่ผ่านมา โครงการ Open Source ได้เติบโตอย่างรวดเร็วมาก ยกตัวอย่าง 3 โปรเจกต์ในช่วงโควิด ได้แก่ Appsmith, ToolJet และ Budibase ซึ่งบางตัวเกิดขึ้นมาก่อนโควิด แต่ในช่วงโควิดการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนอย่างมากในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา และในปีนี้โดยรวมของตลาด Low Code มีการเติบโตถึง 25% โดยตลาด Low Code นั้น เรามักมองรวมเทคโนโลยีหลายตัว เช่น RPA ก็อาจจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Low Code แต่ที่เติบโตค่อนข้างมากตัวหนึ่ง คือ Low-Code Application Platform ที่ใช้พัฒนาแอปพลิเคชันติดต่อผู้ใช้ โดยเราสามารถเชื่อมระบบเข้ากับ Database, Google Sheet, Microsoft Excel แล้วนำมาทำแอปเป็นหน้าจอ UI เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่เติบโตขึ้นมาก
เทรนด์ที่ 2 ความนิยมในภาษาใหม่และเฟรมเวิร์กใหม่ ๆ ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครได้ทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์มานาน เราก็จะพบว่าเฟรมเวิร์กที่เราใช้งานอาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็นช่วง 3-5 ปี แม้หลายปีที่ผ่านมา React และเฟรมเวิร์กในกลุ่มเดียวกันจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวหนึ่งก็คือ Svelte ที่การใช้งานยังไม่เยอะมาก แต่ผลสำรวจของ Stack Overflow กลับแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้นั้นชื่นชอบเป็นอย่างมาก และอัตราการใช้งานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมี เฟรมเวิร์กตัวหนึ่งที่เริ่มเด่นขึ้นมา คือ Phoenix ที่ใช้ภาษา Elixer แม้อัตราการใช้งานยังน้อยมากแต่ผู้ใช้งานแสดงความชื่นชอบเกิน 80% นับเป็นเฟรมเวิร์กที่ผู้ใช้รักที่สุดตัวหนึ่ง
สำหรับภาษาโปรแกรมที่กำลังเป็นที่นิยมคือภาษา Rust ที่ก่อนหน้านี้ก็เคยติดอันดับภาษาโปรแกรมมิ่งที่ผู้ใช้ชื่นชอบอย่างมากเป็นเวลานาน ปีที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่อย่าง AWS, Microsoft รับวิศวกรในภาษา Rust เพิ่มมากขึ้น ทั้งการใช้ภาษา Rust ในบางโครงการของบริษัทเอง และการนำมาช่วยพัฒนาตัวภาษา
เทรนด์ที่ 3 คือ AI จะยังไม่มาแย่งงานเราในเร็ว ๆ นี้ (แต่ในอนาคตก็ไม่แน่) ด้วยกระแสนิยมของ ChatGPT ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนก็อาจมีคำถามว่า เทคโนโลยีนี้จะทำให้โปรแกรมเมอร์ตกงานไหม คำตอบคือ ปีนี้ยัง! กลับกันคือเราน่าจะเห็นการทำงานของโปรแกรมเมอร์ที่มี AI มาช่วยทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบัน AI สามารถช่วยงานได้มากขึ้น สามารถแปลงคอมเมนต์เป็นโค้ดได้อย่างชาญฉลาด หลายครั้งสามารถเขียนทั้งฟังก์ชัน หรือเขียนตัวทดสอบแอปพลิเคชันได้อย่างแม่นยำรวดเร็ว แต่ AI ก็ยังต่างจากคำตอบของมนุษย์ที่มีความรู้อย่างแท้จริง AI จะประมวลความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด และจุดอ่อนของ AI มันไม่ได้ทดสอบคำตอบของมันจริง ๆ ต่างจากโปรแกรมเมอร์ที่ก่อนเราจะนำงานไปส่ง เราก็ต้องทดลองคำตอบของเราก่อนว่าทำงานได้จริงอย่างที่ต้องการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม AI ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเขียนโปรแกรมได้ โดยมีเครื่องมือที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ GitHub Copilot และ Tabnine โดยควรใช้อย่างระมัดระวัง อย่าลืมว่าโค้ดเป็นความรับผิดของผู้เขียน แม้ AI จะมีข้อจำกัดแต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง
เทรนด์ที่ 4 คือ PostgreSQL กำลังครองตลาด Database ในปีที่ผ่านมา PostgreSQL ถูกเลือกเป็นฐานข้อมูลยอดนิยมอันดับหนึ่ง จากการสำรวจของ Stack Overflow เป็นความสำเร็จที่น่าสนใจสำหรับตลาด Database ที่นิ่งมานาน PostgreSQL เป็น Open Source ที่มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเวอร์ชันล่าสุดคือ เวอร์ชัน 15 รองรับคำสั่งชื่อ Merge into ซึ่งเขียนโค้ดได้ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากนี้บริษัทจำนวนมากนิยมใช้ PostgreSQL เป็นฐานเพื่อพัฒนาบริการของตนเอง ทั้งการให้บริการฐานข้อมูลบน Cloud PostgreSQL โดยตรง หรือ AWS ใช้ในการต่อยอด เขียน Plugin เพิ่ม เพื่อใช้แทน Microsoft SQL Server ได้ หรือโครงการอย่าง IvorySQL ก็พยายามทำให้ ProstgreSQL สามารถรองรับโค้ดที่เขียนเพื่อ Oracle Database ได้อีกด้วย แม้ว่าลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่อาจจะไม่ได้เลิกใช้ Commercial Database ไปแม้จะประหยัดค่าไลเซนส์ แต่อาจมีบางส่วนที่ตัดสินใจ Migrate ที่ตัดสินใจย้ายมาที่ PostgreSQL ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาต่าง ๆ พัฒนาขึ้นมานี้ ความได้เปรียบคือโครงการจำนวนมากล้วนพัฒนาโดยใช้ PostgreSQL เป็นฐาน และฟีเจอร์ที่พัฒนาเพื่อรองรับระบบฐานข้อมูลเหล่านั้นก็น่าจะถูกพอร์ตกลับมายัง PostgreSQL ทำให้กระบวนการพัฒนาเร็วยิ่งขึ้นด้วย
และเทรนด์สุดท้าย คือ Serverless กำลังจะมา ซึ่ง Serverless จะต่างจาก Server แบบดั้งเดิม โดยระบบปฏิบัติการจะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ Cloud และผู้ใช้งานสามารถใช้ Server โดยถือว่าใช้งานตัวแพลตฟอร์มที่ระดับสูงได้ นอกจากนี้ผู้ให้บริการ Serverless มักคิดค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดเป็นหน่วยย่อยต่ำกว่าวินาที ทำให้เรามีค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงโดยไม่ต้องเตรียมทรัพยากรเผื่อไว้ล่วงหน้า Serverless นี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ เช่น Lambda ของ AWS ก็มีมาตั้งแต่ปี 2014 และหลายองค์กรใช้เป็นเรื่องปกติมานานแล้ว อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาการใช้งาน Serverless มีพัฒนาการหลายอย่าง เช่น การร่วมมือกันระหว่าง Cloudflare และ Next.js ทำให้สามารถเขียนโค้ด Next.js แล้ว Deploy บน Cloudflare Workers ที่เป็นบริการ Serverless ของ Cloudflare ได้เลย แนวทางนี้ยังมีการใช้งานกับเฟรมเวิร์กอื่น ๆ อีกมาก ทำให้ในอนาคตการพัฒนาเว็บแบบเต็มรูปแบบน่าจะนำโค้ดไปรันบนบริการ Serverless ได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ
ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ 5 เทรนด์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในปีนี้ และน่าจับตามองกันต่อไปในปีหน้า