โอเพนซอร์สกำลังผลักดันโลกไอทีอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเห็นลินุกซ์สามารถครองพื้นที่ตั้งแต่ตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กจิ๋วไปจนเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ แต่การใช้รูปแบบการพัฒนาโอเพนซอร์สก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ซอฟต์แวร์เท่านั้น ช่วงหลังมานี้ฮาร์ดแวร์เองก็เริ่มมีโมเดลพัฒนาแบบโอเพนซอร์สมากขึ้นเรื่อยๆ
โครงการที่โด่งดังคือ Arduino บอร์ดพัฒนาคอมพิวเตอร์ฝังตัวที่ทำให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเอาไว้ควบคุมระบบไฟฟ้าง่ายๆ เช่น การตั้งเวลาเปิดปิดน้ำหรือสวิตช์ไฟ ไปจนถึงการสร้างอุปกรณ์ IoT ได้โดยที่สามารถเข้าไปศึกษาได้ทุกส่วน ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของ Arduino เอง
ด้วยความที่ Arduino เป็นโครงการโอเพนซอร์ส ทำให้โรงงานต่างๆ ทั่วโลกสามารถดาวน์โหลดพิมพ์เขียวมาผลิตบอร์ดเองได้ หรือบางครั้งก็ดัดแปลงเพิ่มเติมอุปกรณ์ลงไป เช่น บางคนนำไปพัฒนาเกมกด หรือเครื่องควบคุมระบบไฟฟ้าในโรงงาน โดยใช้การออกแบบของ Arduino เป็นฐาน
อีกโครงการหนึ่งคือ RepRap ที่มุ่งสร้างเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยชิ้นส่วนเครื่องพิมพ์สามมิติมักเป็นชิ้นส่วนง่ายๆ เช่น แท่งเหล็กประกอบเข้ากับชิ้นส่วนพลาสติกที่สามารถพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติได้นั่นเอง แนวทางนี้ทำให้หลายทีมงานสามารถนำพิมพ์เขียวโครงการเดิมไปพัฒนาต่อสร้างเครื่องพิมพ์ที่มีต้นทุนถูกลง หรือสเปคดีขึ้น
โลกฮาร์ดแวร์โอเพนซอร์สมีความกว้างใหญ่ หลายโครงการก็เป็นการทำเล่นๆ โดยไม่มีการดูแลระยะยาว แต่บางโครงการก็มีบริษัทเข้ามาช่วยพัฒนาต่อเนื่อง หากนำมาใช้ในธุรกิจจริงก็อาจจะต้องเลือกใช้งานให้เหมาะสม
– – –โดยลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาลChief Technology Officer, MFEC