Skip links
View
Drag

ถึงเวลาที่ธุรกิจต้องลงทุนรับมือกับ Climate Change แล้วจริงหรือ

หากจะพูดถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมุมมองของภาคธุรกิจ คงไม่พ้นต้องนึกถึงเรื่อง “ถึงเวลาที่ต้องลงทุนเพื่อรับมือกับ Climate Change แล้วหรือยัง” “ธุรกิจของเราอยู่ในกลุ่มที่ต้องทำตอนนี้ไหม” “ถ้าต้องทำจะใช้งบเท่าไหร่ ต้องลงทุนกับเรื่องอะไร” “เมื่อไหร่ถึงต้องลงทุนกับตัวช่วยอย่างเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ” เราจะมาพูดถึงในบทความนี้กันครับ 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่ใช่เพียงเกี่ยวกับปัญหาดินฟ้าอากาศ อย่างเช่น อากาศร้อนขึ้น ภัยพิบัติเกิดถี่และรุนแรงขึ้น หรือถูกพิจารณาตีกรอบให้เป็นเพียง “ผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม” อีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เนื่องมาจากการเริ่มบังคับใช้ข้อกฎหมายทั้งในไทยและในประเทศคู่ค้าชั้นนำทั่วโลก เพื่อผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเริ่มเกิดความคาดหวังจากฝั่งผู้บริโภคซึ่งต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน อีกทั้งความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะกระทบกับการดำเนินธุรกิจ ที่ทำให้ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องวางแผนและเตรียมตัวรับมืออย่างจริงจังมากขึ้น 

ทำไมธุรกิจถึงต้องเริ่มลงทุนรับมือกับ Climate Change? 

ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ ข้อบังคับทางกฎหมาย และความคาดหวังจากภาคสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจที่ละเลยประเด็นนี้อาจพบกับความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคต การเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจเมื่อผู้บริโภคหันไปสนับสนุนแบรนด์ที่มีความยั่งยืนมากกว่า 

  1. แรงกดดันจากกฎหมายและภาษีคาร์บอน 

หลายประเทศเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีคาร์บอนและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดให้บริษัทต้องแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย (Carbon Footprint of Products – CFP) และก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินกิจการขององค์กร (Carbon Footprint of Organization – CFO) ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศที่เริ่มบังคับใช้กฎหมายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง แม้ประเทศไทยในเวลานี้จะยังคงอยู่ในช่วงระหว่างพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงกระบวนการภายในบริษัท เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ทันก่อนกฎหมายประกาศใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับอัตราค่าปรับจากภาษีคาร์บอนในอนาคต และอาจต้องพบต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อทุกบริษัทต่างแย่งชิงทรัพยากรเพื่อการประเมินและเทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอนให้กับธุรกิจของตนเอง 

  1. ความคาดหวังของผู้บริโภค 

ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยเราอาจจะคุ้นชินกับการพลิกด้านหลังของสินค้าเพื่อดูข้อมูลแคลอรี่หรือปริมาณน้ำตาล เพื่อสุขภาพที่ดีในการบริโภค แต่ในกลุ่มประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสนับสนุนการลดผลกระทบจากการ Climate Change นั้นให้ความสำคัญกับ Carbon Label ของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก มีผลสำรวจในปี  2022 พบว่าผู้บริโภคในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกว่าร้อยละ 76 จะพลิกดูฉลากคาร์บอนก่อนซื้อสินค้า ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นแรงกดดันที่มากพอจะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป ทบทวนอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง หากบริษัทไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องนี้ ก็อาจเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งที่มีแนวคิดใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 

  1. การลดคาร์บอน กับ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน คือเรื่องเดียวกัน 

เรามักจะมองว่า การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก นั้นต้องเป็นเรื่องของการลงทุนใหม่ เช่น ติดแผงโซลาร์เซลส์ ซื้อเครื่องจักรรุ่นใหม่ เปลี่ยนรถสวัสดิการของบริษัทให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือเปลี่ยนหลอดไฟเป็นรุ่นประหยัดพลังงานทั้งอาคาร แต่แท้ที่จริงแล้วหากพิจารณาอย่างรอบคอบ ก้าวแรกของการลดคาร์บอนในธุรกิจ นั่นคือ การลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อไม่ให้เกิด waste หรือความสิ้นเปลืองในธุรกิจทั้งในแง่ของเวลา ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น จะนำมาซึ่งการลดต้นทุน หรือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจได้ จนการลดคาร์บอนนั้นถือว่าเป็นผลพลอยได้เสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นธุรกิจผู้ผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค การออกแบบให้บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลงและใช้วัสดุน้อยลง ทำให้สามารถลดรอบการขนส่ง พร้อมกับเพิ่มพื้นที่สินค้าต่อรอบการขนส่ง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากการใช้วัสดุน้อยลงและใช้เชื้อเพลิงในการเดินรถน้อยลง หรือในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่เริ่มนำเอา IoT, AI, Machine Learning, Robotics เข้ามาใช้ในสายการผลิต ภายใต้แนวคิดอย่าง Lean Manufacturing ที่มุ่งเน้นให้ระบบดิจิทัลช่มาวยลดเวลาในการผลิต ลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็น ลดจำนวนของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว เพียงแค่การลดเวลาการผลิตลงได้ ก็เท่ากับลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและลดคาร์บอนจากส่วนของพลังงานได้อย่างมากด้วยเช่นเดียวกัน 

ธุรกิจของคุณต้องเริ่มลงทุนตอนนี้ไหม? 

หากคุยกันแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐหรือผลกระทบเชิงกฎหมายในทันที แต่การเข้าใจถึงความเสี่ยงจาก Climate Change จะช่วยให้เราสามารถประเมินได้ว่า ธุรกิจของเราจำเป็นต้องเริ่มลงทุนด้าน Climate Change แล้วหรือไม่ 

  1. ธุรกิจอยู่ในกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

อุตสาหกรรมในกลุ่ม การผลิต พลังงาน และการขนส่ง ควรเริ่มต้นทำการประเมินและลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และแทบจะทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะเป็นกลุ่มแรกที่โดนบังคับใช้ก่อนเสมอ ซึ่งนั่นจะส่งผลไปถึง Supply Chain ทั้งหมดของกลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้น ที่จะเริ่มได้รับแรงกดดันให้มีกิจกรรมที่ลดคาร์บอนมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่เป็น Supply Chain นั้นมีบทบาทในการสนับสนุนหรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตและการจัดหาสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมเหล่านั้นโดยตรง เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้ขนส่ง และผู้กระจายสินค้า ทุกกิจกรรมจาก Supply Chain นั้นล้วนส่งเป็นผลรวมคาร์บอนกลับมาที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ต้องรายงานตามกฎหมาย จึงแนะนำอย่างยิ่งว่า Supply Chain ของอุตสาหกรรมด้านการผลิต พลังงาน และการขนส่ง จำเป็นต้องเริ่มปรับตัวรับมือไปพร้อมกัน 

  1. ธุรกิจในเครือบริษัทข้ามชาติ 

เป็นธุรกิจที่มีบริษัทแม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีกฎหมายด้าน Climate Change บังคับใช้แล้ว หรือมีบริษัทในเครือทำธุรกิจอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายบังคับใช้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำการรายงานการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงหาวิธีลดการปลดปล่อยดังกล่าวให้น้อยลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากค่าภาษีและค่าปรับตามสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

  1. ธุรกิจที่ต้องคงความสามารถในการแข่งขัน 

ความโปร่งใสด้านความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนและลูกค้าในปัจจุบัน ธุรกิจที่ยังไม่ปรับตัวนั้นมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีลูกค้าอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายบังคับใช้แล้ว เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนักลงทุนและลูกค้า ย่อมให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจด้วย เพราะบริษัทของพวกเขาเหล่านั้นจำเป็นต้องนำข้อมูลของเราไปรายงานเป็นสัดส่วนของบริษัทตนเองเช่นกัน 

ควรลงทุนในเรื่องอะไร และเมื่อไหร่ถึงต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

คำถามสำคัญที่หลายธุรกิจมักถาม ก็คือ “ต้องลงทุนกับอะไรบ้าง?” แน่นอนว่าเราคงไม่ผลีผลามไปปลูกป่า หรือซื้อเทคโนโลยี Carbon Capture มาใช้งาน โดยยังไม่เริ่มจากการดำเนินการภายในบริษัทก่อน 

การลงทุนในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้มีความยั่งยืน สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ 

  1. การปรับปรุงกระบวนการและโครงสร้างพื้นฐาน 

ในขั้นตอนแรก ภาคธุรกิจสามารถเริ่มต้นได้จาก การปรับปรุงกระบวนการผลิต กระบวนการทำงาน การใช้พลังงาน และการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

  1. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมประสิทธิภาพ 

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการรับมือกับ Climate Change ควรเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจต้องการความแม่นยำและประสิทธิภาพที่มากขึ้นในการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนและการลดคาร์บอน เราอาจเริ่มเห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเราควรเริ่มพิจารณาลงทุนกับเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนี้ 

  • เมื่อธุรกิจของเราต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับหน่วยงานภาครัฐ ผู้ถือหุ้น หรือตามที่ลูกค้าร้องขอ และต้องรับมือการมาตรฐานทั้งภายในและต่างประเทศที่หลากหลาย 
  • เมื่อต้องการลดทรัพยากรในการดำเนินงาน เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว ซึ่งอาจเกิดจาก human error, อัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover Rate), ทรัพยากรด้านเวลา man-day หรือ man-hour ของพนักงานที่ต้องทำงาน 
  • เมื่อธุรกิจต้องการแสดงความโปร่งใสในเรื่องความยั่งยืนต่อผู้บริโภคและนักลงทุน เนื่องจาก การทำรายงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงสามารถคำนวณค่าต่าง ๆ ออกมาได้อย่างถูกต้อง ตรงตามหลักการ 

เทคโนโลยีดิจิทัลที่แนะนำให้นำเข้ามาช่วยในการรับมือกับ Climate Change ได้แก่ เครื่องมือสำหรับจัดการข้อมูลเพื่อการคำนวณคาร์บอน (MFEC Data Discovery) แพลตฟอร์มการจัดการคาร์บอน (Carbon Management Platforms) เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics and AI) เพื่อวิเคราะห์หาจุดที่ต้องปรับปรุง คาดการณ์แนวโน้มของผลกระทบ เพื่อการวางนโยบายด้าน Climate Change ของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ 

นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ธุรกิจจะหันมาลงทุนกับการรับมือ Climate Change อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิต การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยจัดการข้อมูลและคำนวณการปล่อยคาร์บอน ซึ่งการลงทุนใน Green Tech และโซลูชันที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจของเราอยู่รอดจากความท้าทายนี้ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจเติบโตและคงความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวด้วย 

หากธุรกิจของคุณพร้อมแล้ว อย่ารอช้า เริ่มต้นวางแผนและลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คุณอยู่บนเส้นทางสู่ความยั่งยืนตั้งแต่วันนี้