MFEC นำโดยคุณปาร์ค ชัยดิษฐ์ สิทธิสุนทรวัชร์, Digital Sustainability Specialist ได้รับเชิญให้เข้าร่วมบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อ “Sustainability: landscape ของการพัฒนาด้านความยั่งยืนและ ESG และโอกาสในอนาคตของวิชาชีพวิศวกรรม” โดยมีเป้าหมายในการถ่ายทอดมุมมอง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืนและ ESG ให้กับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์
ในการบรรยายครั้งนี้ คุณปาร์คได้กล่าวถึงหลักการพื้นฐานของ “Sustainability” และ “ESG” ซึ่งถือเป็นสองแนวคิดสำคัญที่เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับสังคม โดยเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของมุมมอง Inside-out และ Outside-in
Sustainability คือการที่บริษัทพิจารณาจากภายในออกไปสู่ภายนอก (Inside-out) เป็นแนวคิดที่องค์กรเลือกดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อยู่นอกองค์กร เช่น การลดการใช้พลังงานหรือการลดขยะจากกระบวนการผลิต

ในทางกลับกัน ESG หรือ Environmental, Social, and Governance เป็นการที่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียมองกลับมายังองค์กร (Outside-in) โดยพิจารณาผ่านสามด้าน ได้แก่
E (Environmental) ความใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติ
S (Social) การให้ความสำคัญกับชุมชน พนักงาน และการสร้างสังคมที่ดีขึ้น
G (Governance) การบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลและโปร่งใส
คุณปาร์คยังได้กล่าวถึงโอกาสในการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในอนาคต เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร หรือการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งภายในองค์กรและในมุมมองของนักลงทุน
การแบ่งปันแนวคิดและมุมมองจากประสบการณ์ตรงในครั้งนี้นอกจากจะเสริมสร้างความเข้าใจให้กับนักศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของความยั่งยืนในงานวิศวกรรมแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้เตรียมพร้อมสู่บทบาทที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคตต่อไป
