นาทีนี้หากจะมีองค์กรใดวางระบบไอที หากเป็นไปได้องค์กรเหล่านั้นมักวางระบบบนคลาวด์แทบทั้งหมด ด้วยเหตุผลสำคัญจากการลดระยะเวลาการพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่องค์กรไม่ต้องเสียเวลาจัดซื้อเซิร์ฟเวอร์, วางโครงสร้างเน็ตเวิร์ค และการประเมินความเสี่ยงในระยะยาวอื่นๆ ที่ผ่านมาบริการคลาวด์เหล่านี้กระทบรายผู้ให้บริการวางระบบไอทีไปไม่น้อย จากเดิมที่องค์กรต่างๆ มักต้องวางระบบไอทีด้วยตัวเอง มีการจัดซื้อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จำนวนมาก มาเป็นการซื้อสร้างเซิร์ฟเวอร์ทีละน้อยๆ และขยายตามโหลดที่จำเป็นต่อการใช้งานได้ทันที การวางระบบขนาดใหญ่ๆ เพื่อรองรับการใช้งานทีละ 3-5 ปีข้างหน้าจึงหายไปในกลุ่มองค์กรที่ใช้งานคลาวด์ไปแล้ว
Naver Cloud Platform คลาวด์จากเกาหลีใต้ที่ประกาศว่าจะเข้าไทย ก็ประกาศให้บริการ On-Premise Cloud แล้ว
อีกจุดสำคัญของธุรกิจคลาวด์คือการทำให้สินค้าสำหรับองค์กรกลายเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไปได้อย่างน่าทึ่ง กระบวนการ “ทำราคา” ที่ออกแบบราคาสำหรับลูกค้าแต่ละรายตามขนาดการสั่งซื้อกลายเป็นการนำเสนอราคาอย่างเปิดเผย ทุกวันนี้เราสามารถดูราคาของเซิร์ฟเวอร์ใน AWS, Azure, หรือ Google Cloud ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเริ่มต้นเดือนละร้อยกว่าบาท หรือเครื่องขนาดใหญ่เดือนละหลายแสนบาทก็ตามที การเปิดเผยราคาเช่นนี้ทำให้ผู้ให้บริการคลาวด์ทุกรายต้องทำราคาแข่งกันอย่างหนัก เมื่อผู้ให้บริการรายหนึ่งประกาศปรับราคาสินค้าตัวใดลง รายอื่นๆ ก็มักจะประกาศปรับราคาให้เท่าๆ กันภายในไม่กี่วัน ไม่นับว่าบริการเหล่านี้พยายามทำตลาดอย่างหนักด้วยการให้โควต้าใช้งานฟรีจำนวนมาก
การแข่งขันกันเช่นนี้บีบให้ส่วนแบ่งของตัวแทนจำหน่ายบริการคลาวด์ทุกรายต่ำกว่าการขายสินค้า On-Premise เดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์, สตอเรจ, หรือระบบเน็ตเวิร์คอื่นๆ แต่องค์กรจำนวนมากก็ยังคงต้องรักษาระบบในองค์กรเอาไว้จากความจำเป็นด้านความปลอดภัย, กฎหมาย, หรือเงื่อนไขอื่นๆ ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจ SI ยังคงสามารถทำกำไรจากลูกค้ากลุ่มนี้ได้
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการคลาวด์หลายรายเปิดบริการคลาวด์แบบติดตั้งในศูนย์ข้อมูลขององค์กรกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญที่สร้างจากการให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ ออกแบบระบบขนาดเล็กลงโดยอาจจะเหลือเพียงตู้เซิร์ฟเวอร์เดียว
แล้วนำไปติดตั้งในศูนย์ข้อมูลขององค์กร ที่เข้ามาทำตลาดในไทยก่อนเพื่อน เช่น Cloud@Customer ของ Oracle และตอนนี้ก็ยังมี AWS Outpost เพิ่มเริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย
คลาวด์ในองค์กรลดข้อได้เปรียบสำคัญของคลาวด์คือการเริ่มจากระบบขนาดเล็กๆ ไป การติดตั้งคลาวด์ในองค์กรทำให้มองค์กรมีภาระผูกพันว่าต้องใช้งานตามขนาดเครื่องที่ซื้อมา เช่น AWS Outpost นั้นเริ่มต้นที่ราคาประมาณ 8 ล้านบาท ขึ้นไปจนถึง 50 ล้านบาท แม้จะมีทางเลือกให้จ่ายรายเดือนได้ตลอดระยะเวลาสามปี แต่ทั้งหมดแล้วองค์กรก็ยังคงมีภาระผูกพันในการจ่ายค่าเซิร์ฟเวอรตามขนาดที่เลือกมาแล้วอยู่ดี ไม่สามารถลดขนาดได้แม้โหลดจะต่ำลงก็ตาม
อย่างไรก็ดีองค์กรจำนวนมากกลับให้ความสนใจกับ On-Premise Cloud เหล่านี้ด้วยชื่อเสียงของผู้ให้บริการคลาวด์ที่สามารถรักษาเสถียรภาพของบริการได้ค่อนข้างดี อีกทั้งการใช้ On Premise Cloud เหล่านี้ยังสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์และบริการบางตัวแบบจ่ายเงินตามการใช้งานจริง เช่น บริการระบบฐานข้อมูลสำเร็จรูป RDS, หรือบริการ Kubernetes ทำให้แม้องค์กรจะเสียเงินค่าฮาร์ดแวร์เป็นก้อนใหญ่ แต่ค่าซอฟต์แวร์เฉพาะก็ยังจ่ายเงินตามการใช้งานจริงต่อไป ตัวอย่างเช่น Amazon EKS นั้นคิดค่าบริการ 0.1 ดอลลาร์ต่อคลัสเตอร์ต่อชั่วโมง โดยไม่ต้องซื้อไลเซนส์ราคาแพงล่วงหน้า หรือ Amazon RDS เองก็คิดค่าบริการตามขนาดเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูล โดยไม่ต้องมีสัญญาการใช้งานซอฟต์แวร์ขั้นต่ำ
ธุรกิจ SI กำลังพบความท้าทายจากผู้ให้บริการรายใหญ่เหล่านี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่ผู้ให้บริการคลาวด์โฆษณาไว้ เซิร์ฟเวอร์เหล่านี้จะซ่อมบำรุงตรงจากผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่แทบทั้งหมด การทำกำไรจากการติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์น่าจะทำได้ลำบากขึ้นในอนาคต แม้แต่บริการซัพพอร์ต AWS Outpost เองก็บังคับขายพร้อมกับบริการ AWS Enterprise Support ของตัวเอง
ธุรกิจ SI จะอยู่เดินหน้าได้อย่างไร ในยุคที่ Cloud กำลังครอบครองทุกพื้นที่แม้แต่ในศูนย์ข้อมูลลูกค้า เช่นนี้ ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือการให้บริการที่ระดับสูงขึ้นไป การ Optimize โครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้รองรับ peak load ได้ทุกช่วงเวลาอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็สามารถออกแบบระบบให้ใช้งานทรัพยากรได้เต็มที่จนอาจจะลดต้นทุน กรณี On-Premise Cloud อาจจะต้องวิเคราะห์ได้ว่า work load รวมสามารถใช้งานเซิร์ฟเวอร์ที่ลงทุนมาได้เต็มที่ มีการย้ายสลับ work load ที่ทำงานบางช่วงเวลาออกไป
อีกส่วนหนึ่งคือการดูแลความปลอดภัยที่เป็นข่าวดีของการติดตั้ง On-Premise Cloud เช่นนี้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรในระบบตรวจสอบที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐาน เช่น AWS Outpost เองมีระบบตรวจสอบอย่าง CloudWatch สำหรับตรวจสอบโหลดของระบบ, CloudTrail สำหรับมอนิเตอร์ความปลอดภัย, และ VPC Flow สำหรับ การตรวจสอบเน็ตเวิร์ค หากเราสามารถสร้างบริการตรวจสอบความปลอดภัยและการควบคุมการใช้งานที่เหมาะสม ก็แปลว่าบริการเดียวกันนี้จะสามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเป็นบริการบนคลาวด์หรือในศูนย์ข้อมูลลูกค้าเอง
สำหรับงานซอฟต์แวร์ แนวโน้มที่ทุกที่จะกลายเป็นคลาวด์เช่นนี้ อาจจะเป็นตัวบอกว่าแนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่อไปควรคำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อรันบนคลาวด์เสมอ เราอาจจะต้องปรับตัวไปพัฒนาแอปพลิเคชั่นแบบคอนเทนเนอร์โดยไม่ต้องสนใจการติดตั้งแบบอื่นๆ อีกเลย ตัวแอปพลิเคชั่นเองรองรับการ scale-up/scale-down ตามการใช้งานจริง
– – –
โดยวสันต์ ลิ่วลมไพศาล
Chief Technology Officer, MFEC