สิ้นสุดเวลาเช้าชามเย็นชาม ด้วยตัวชี้วัดและการประเมินผล สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
ด้วยยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนความต้องการยกระดับศักยภาพบุคลากรส่งผลให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. เดินหน้าครั้งสำคัญ นำระบบรายงานและประเมินผลส่วนราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีตัวชี้วัดเป็นพระเอกออกมาใช้ สุนทรี สุภาสงวน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ก.พ.ร. มีหน้าที่ดูแล ส่งเสริมและพัฒนาหน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์การมหาชน รวมกว่า 200 หน่วยงาน การนำ “คำรับรองการปฏิบัติราชการ” และ “การรายงานผลการปฎิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์” มาใช้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวช่วยในการบรรลุเป้าหมายของผลงาน “สมัยก่อนหน่วยงานต่างๆ รายงานกันเข้ามาเป็นกระดาษ ทุกสิ้นปี สำนักงาน ก.พ.ร. แทบล่ม เต็มไปด้วยเอกสารจำนวนมหาศาล ช่วงหลังเราเลยจับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศอย่าง MFEC พัฒนาระบบการรายงานผลการประเมิน เปลี่ยนจากรายงานบนแผ่นกระดาษมาสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวดเร็วและมีมาตรฐานกว่าในอดีตมาก” ทั้งนี้นอกจากคำรับรองการปฏิบัติราชการที่ทำหน้าที่คล้ายกับสัญญาข้อตกลงในการพัฒนาแล้ว สิ่งสำคัญในการเดินหน้าอย่างมีเป้าหมาย คือ การกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน เกิดประโยชน์ และส่งเสริมการพัฒนาของประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ชาติมากที่สุด “ตัวชี้วัดแต่ละหน่วยงานนั้นแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วัดจากเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวใช้จ่าย กระทรวงพาณิชย์ วัดจากปริมาณส่งออกข้าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัดผลจากงานเรื่องวิจัย สำนักนายกรัฐมนตรี วัดผลจากการจัดการเรื่องร้องเรียน กรมควบคุมมลพิษ วัดผลจากการลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ คุณภาพแหล่งน้ำที่ดีขึ้น และปริมาณขยะที่ลดลง ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี วัดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่มีต่อการดำเนินงานของรัฐ หรือกระทรวงสาธารณสุขที่ตัวชี้วัดขึ้นอยู่การลดปัญหาโรคสำคัญต่างๆ” สุนทรี กล่าวว่า การกำหนดตัวชี้วัด เริ่มจากปรึกษากับกระทรวงหรือหน่วยงานต้นทาง เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทาง โดยมีกรอบสำคัญอย่าง ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนแผนแม่บทอื่นๆ รองรับ “กำหนดเป้าหมาย คัดกรองออกมาเป็นตัวชี้วัดหลัก สิ้นปีจะมีการรายงานและประเมินผลซึ่งกำหนดเกณฑ์การวัดระดับความสำเร็จตั้งแต่ 1-5 โดยความสำเร็จคิดจากคุณภาพและปริมาณ ซึ่งผลประเมินจะกลายเป็นตัวสะท้อนการทำงานของข้าราชการและพนักงานที่ผ่านมาตลอดทั้งปี” ทั้งนี้ นอกจากตัวชี้วัดของกระทรวงแล้ว ยังมีตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวงด้วย เนื่องจากการพัฒนาต้องมีความเกี่ยวเนื่องกันหลายฝ่าย ตัวอย่างเช่น ในแง่การท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรมอาจต้องเข้ามาร่วมในการพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างออกแบบเส้นทางให้มีความพร้อม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จำเป็นต้องเข้ามาดูเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งหมดจะถูกนำมาคำนวณร่วมกัน คำถามสำคัญคือ พลังของผลประเมินนั้นจะมีมากน้อยเพียงไร ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.พ.ร. บอกว่า “ผลคะแนน” เป็นการพิสูจน์ตัวเอง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ยกระดับคุณภาพของหน่วยงานต่อไป “เปรียบเสมือนท่าว่ายน้ำ มีทั้งท่ายาก ท่าง่าย กระทรวงบางแห่งอย่างกระทรวงการคลัง แน่นอนว่า นอกจากความสามารถของบุคลากรแล้วยังต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดนั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนามาก ผลของมันวันนี้มีผลต่อการกำหนดอนาคตให้ดียิ่งขึ้น” ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ทิ้งท้ายว่า โลกปัจจุบันและความสามารถของเทคโนโลยี กำลังผลักดันให้เหล่าข้าราชการต้องปรับตัว และให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดมากขึ้น เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของตนเองและประเทศชาติ ขณะที่ ก.พ.ร. เองก็จะพยายามเร่งพัฒนา สร้างตัวชี้วัดที่สะท้อนความเป็นจริงสื่อถึงเป้าหมายของการปฎิบัติงานมากที่สุด เนื่องจากเข้าใจดีว่า การบริหารงานที่ขาดตัวชี้วัดหรือมีตัวชี้วัด ที่ไม่เหมาะสมจะทําให้ผู้บริหารและบุคลากรไม่ทราบข้อเท็จจริงหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะนําไปสู่ความล้มเหลวของการดําเนินงานได้ “หน่วยงานไหนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จำเป็นต้องทำแผนปรับปรุง เปลี่ยนภาพเช้าชามเย็นชาม ไม่ได้ทำงานไปวันๆ แต่คิดถึงผลลัพธ์ในการดำเนินงานเสมอ” สุนทรี กล่าว