โครงสร้างไอทีกลายเป็นหัวใจของธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง โดยเฉพาะยุคที่เราต้องทำงานจากที่บ้านมากขึ้น กลายเป็นว่าองค์กรจำนวนมากยิ่งต้องพึ่งระบบไอทีอย่างหนัก หลายครั้งเราอาจะพบว่าระบบไอทีราคาแพงที่เราติดตั้งไปนั้น ต้องกลับมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ บางครั้งก็มีฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ขาดหายไปต้องการการปรับแต่ง หรือมีช่องโหว่ความปลอดภัย ความท้าทายเช่นนี้พบเหมือนๆ กันในระบบไอทีจำนวนมากจนช่วงหลังมักเรียกเหมือนๆ กันว่า Day 2 Operations
คำว่า Day 2 หรือวันที่สองเป็นการแยกออกจากวันแรกที่ระบบติดตั้งหรือคอนฟิกให้พร้อมใช้งาน ระบบอาจจะอยู่ในมือของทีมพัฒนาหรือทีมติดตั้ง แต่หลังจากนั้นระบบถูกส่งมอบให้กับหน่วยงานที่ดูแลระบบระยะยาวที่ต้องซ่อมบำรุงระบบต่อๆ ไป ตลอดช่วงอายุขัยของระบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบง่ายๆ อย่างการแชร์ไฟล์ในองค์กรหรือระบบที่ซับซ้อนอย่าง ERP ก็ตามที
การวางระบบที่ไม่ได้คิดเผื่อ Day 2 เลยสร้างภาวะที่ดูแลรักษาอะไรแทบไม่ได้ในระบบ ระบบอาจจะเซ็ตอัพไว้หลายปีแล้วและทำงานได้โดยไม่มีปัญหา แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไรหากวันหนึ่งระบบมีปัญหาขึ้นมาไม่ว่าจะฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ผู้ดูแลเลือกที่จะไม่ติดตั้งแพตช์ความปลอดภัยใดๆ แม้ช่องโหว่จะร้ายแรงแค่ไหนก็ตาม ขณะที่ผู้ใช้ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรแม้จะเกิด requirement ทางธุรกิจใหม่ เช่นจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นแต่ระบบกลับรองรับไม่ไหว
ซอฟต์แวร์สำหรับระบบไอทีใหม่ๆ ระบุถึงฟีเจอร์เพื่อช่วยซัพพอร์ตผู้ดูแลระบบในระยะยาวเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การติดตั้งด้วย Kubernetes Operator ที่ช่วยให้การอัพเกรดในระยะยาวทำได้โดยง่าย และสามารถขยายระบบเพิ่มเติมด้วยคอนฟิกเพียงไม่กี่บรรทัด หรือซอฟต์แวร์บางตัวอาจจะมาพร้อมกับสคริปต์คอนฟิกและอัพเกรด ฟีเจอร์เหล่านี้ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกวางระบบที่ต้องอยู่กับองค์กรไปอีกนาน
– – –
โดยคุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล
Chief Technology Officer, MFEC